ความเป็นมาของโครงการ
- ปี 2560 โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 1 เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับธนาคารเจ้าหนี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว ธนาคารเจ้าหนี้ 16 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ มอบหมายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เป็นหน่วยงานกลางเชื่อมโยงระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ทุกราย ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการวางแผนและวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องด้านการลดความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย และสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ในสังคม นำไปสู่การลดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ปี 2562 โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 ขยายขอบเขตให้รวมลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ non-bank 19 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงลูกหนี้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างกว้างขวางและครบวงจรอย่างแท้จริง
- ปี 2563 โครงการคลินิกแก้หนี้เดินหน้าเข้าสู่ “ระยะที่ 3” โดยได้ขยายขอบเขตให้สามารถแก้ไขหนี้บัตรที่มีเจ้าหนี้รายเดียว และหนี้บัตรที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว รวมทั้งปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมต้องมีหนี้บัตรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 มาเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 และปรับเงื่อนไขจากเป็นหนี้เสีย (NPL) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เมื่อช่วงปลายปี
- ปี 2565 โครงการฯ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมต้องมีหนี้บัตรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 และปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้เป็น 3 ทางเลือก
- ปัจจุบันโครงการฯ ปรับปรุงคุณสมบัติผู้เข้าโครงการจากเดิมต้องมีหนี้บัตรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566